Saturday, February 6, 2010

Anything but Damn !!

"Do what you feel in your heart to be right - for you'll be criticized anyway. You'll be damned if you do, and damned if you don't."

Eleanor Roosevelt, the First Lady of the United States from 1933 to 1945.

Thursday, February 4, 2010

กฎ 10 ข้อในการอยู่รอดและการลงทุนด้วย การวิเคราะห์ทางเทคนิค By Investor Chart

กฎ ทั้ง10 ข้อนี้ เป็นหลักการสำคัญสำหรับผู้ที่ใช้วิธีการวิเคราะห์ทางเทคนิคสำหรับการลงทุน เพราะหากไม่มีหลักการดังกล่าวแล้ว เราก็จะไม่สามารถกำหนดการซื้อขายที่เป็นรูปแบบได้ ซึ่งในกฎเหล่านี้จะพูดถึงการวิเคราะห์แนวโน้ม , หาจุดกลับตัว, ติดตามค่าเฉลี่ย, มองหาสัญญาณเตือน และอื่นๆ หากท่านสามารถเข้าใจและปฎิบัติตามหลักการเหล่านี้ได้ผมเชื่อว่าท่าน ก็สามารถเอาตัวรอด ด้วยการลงทุนโดยใช้หลักการวิเคราะห์ทางเทคนิค ได้ครับ

  • ดูแนวโน้ม (Trend is Your Friend)
เรียนรู้ชาร์ตในระยะยาว โดยเริ่มการวิเคราะห์ชาร์ตในระดับเดือนและสัปดาห์ ของช่วงเวลาหลายๆปี การดูชาร์ตในระดับของช่วงเวลาที่กว้างขึ้นจะทำให้สามารถมองเป็นแนวโน้มของตลาดในระยะยาวได้ชัดเจนขึ้น เมื่อทราบถึงแนวโน้มระยะยาวแล้ว จึงจะดูชาร์ตในระดับวันและนาที การดูแนวโน้มในช่วงสั้นเพียงอย่างเดียวจะทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ถึงแม้ว่าคุณจะลงทุนในระยะสั้น คุณจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหากคุณลงทุนในทิศทางเดียวกับแนวโน้มในระยะกลางและยาว

  • วิเคราะห์และไปตามแนวโน้ม (Analyze investment using suitable Time Frame)
แนวโน้มของตลาดมีหลายช่วงเวลา ระยะยาว ระยะกลาง และระยะสั้น สิ่งแรกคือ คุณต้องรู้ว่าคุณจะลงทุนในระยะเวลาเท่าใด และวิเคราะห์ชาร์ตของช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยที่คุณต้องแน่ใจว่าคุณลงทุนไปในทิศทางเดียวกับแนวโน้มในระยะเวลานั้นๆ ซื้อเมื่อแนวโน้มอยู่ในขาขึ้น และขายเมื่อแนวโน้มอยู่ในขาลง หากคุณลงทุนในระยะกลาง ให้ใช้ชาร์ตในระดับวันและสัปดาห์ ถ้าคุณลงทุนระยะสั้น ให้ใช้ชาร์ตระดับวันและรายนาที อย่างไรก็ตาม ในแต่ละกรณี ให้ดูแนวโน้มของช่วงเวลาที่ยาวขึ้น และใช้ชาร์ตของช่วงเวลาที่สั้นลงในการหาจุดที่จะเข้าซื้อ-ขาย

  • หาจุดสูงสุดและต่ำสุด (Support and Resistance are crucial)
วิเคราะห์แนวรับและแนวต้าน จุดที่ดีที่สุดในการเข้าซื้อก็คือจุดใกล้แนวรับซึ่งมักจะเป็นจุดต่ำสุดของรอบการซื้อขายที่แล้ว จุดที่ดีที่สุดสำหรับการขายก็คือจุดที่ใกล้แนวต้าน ซึ่งมักจะเป็นจุดสูงสุดของรอบการซื้อขายที่แล้ว หากมีการเคลื่อนผ่านแนวต้าน แนวต้านนั้นจะกลายเป็นแนวรับสำหรับการปรับตัวลดลง อีกนัยหนึ่ง จุดสูงสุดเดิมกลายเป็นจุดสูงสุดใหม่ และเช่นเดียวกัน ในกรณีที่ราคาทะลุผ่านแนวรับ มักจะมีแรงขายออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้จุดต่ำสุดเดิมกลายเป็นจุดต่ำสุดใหม่

  • รู้ว่าจะไปไกลแค่ไหนจึงจะกลับตัว (Estimate Extension or Pullback using Fibonacci)
เทียบอัตราส่วนการขึ้น-ลง เป็นเปอร์เซนต์ โดยทั่วไปตลาดจะมีการกลับตัวทั้งขึ้นและลงตามสัดส่วนเปอร์เซนต์ของแนวโน้มของช่วงก่อน คุณสามารถวัดอัตราส่วนของการปรับตัวขึ้นหรือลงของแนวโน้มปัจจุบันได้โดยใช้อัตราส่วนชุดหนึ่งที่มีการกำหนดค่าไว้แล้ว เช่น การกลับตัวขึ้นหรือลง 50%ของแนวโน้มก่อน เป็นอัตราพื้นฐานที่ใช้กันบ่อย อัตราส่วนต่ำสุดของการวัดการดีดกลับ คือ 1/3 ของแนวโน้มก่อน และอัตราส่วนสูงสุดคือ 2/3 อัตราส่วนที่สำคัญและควรให้ความสนในก็คือ อัตราส่วน Fibonacci 36% และ 62% ดังนั้น เมื่อตลาดมีการพักในช่วงแนวโน้มขาขึ้น จะมีจุดซื้อคืนจุดแรกเมื่อตลาดปรับตัวลง 33-38% ของจุดสูงสุด

  • ใช้เส้นแนวโน้ม (Draw Trendline)
เส้นแนวโน้มเป็นหนึ่งในเครื่องมือการวิเคราะห์ที่ง่ายและมีประสิทธิภาพที่สุด สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมีเพียงขอบเขตที่เส้นแนวโน้มแสดงและจุด 2 ตำแหน่งบนชาร์ต เส้นแนวโน้มขาขึ้นวาดโดยใช้จุดต่ำสุด 2 จุด ที่อยู่ใกล้กัน และเส้นแนวโน้มขาขึ้นวาดโดยใช้จุดสูงสุด 2 จุดใกล้กัน ราคาของหุ้นมักจะเคลื่อนเข้าใกล้เส้นแนวโน้มก่อนที่จะเคลื่อนกลับเข้าสู่แนวโน้มของมัน หากราคาทะลุผ่านเส้นแนวโน้ม จะแสดงถึงสัญญาณของการเปลี่ยนแนวโน้ม เส้นแนวโน้มจะมีผลเมื่อราคาเคลื่อนแตะที่เส้น 3 ครั้งเป็นอย่างน้อย เส้นแนวโน้มที่ลากได้ยิ่งยาว หมายถึง จำนวนครั้งมากขึ้นของการทดสอบเส้นแนวโน้ม และยิ่งทำให้เส้นแนวโน้มมีความสำคัญมากขึ้น

  • ติดตามค่าเฉลี่ย (Moving Average)
หมายถึงการเคลื่อนไหวของเส้นค่าเฉลี่ย ซึ่งจะบอกถึงราคาเป้าหมายที่จะซื้อและขาย เส้นค่าเฉลี่ยเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าราคาอยู่ในแนวโน้มเช่นใดและช่วยยืนยันสัญญาณการเปลี่ยนแนวโน้ม อย่างไรก็ตาม เส้นค่าเฉลี่ยไม่ใช่เครื่องมือที่จะบอกล่วงหน้าว่าแนวโน้มกำลังจะเปลี่ยน รูปแบบของการใช้เส้นค่าเฉลี่ยที่เป็นที่นิยมคือการใช้เส้นค่าเฉลี่ย 2 เส้นเพื่อหาจุดซื้อ-ขาย ค่าที่นิยมใช้สำหรับค่าเฉลี่ยที่ใช้คู่กันคือ 5 วันและ10 วัน, 10 วันและ25วัน, 25 วันและ 50 วัน สัญญาณซื้อ-ขายเกิดขึ้นเมื่อเส้นที่มีค่าเฉลี่ยสั้นกว่าตัดกับเส้นที่ยาวกว่า หรือ เมื่อราคาเคลื่อนผ่านเส้นค่าเฉลี่ย 25 วัน เนื่องจากเส้นค่าเฉลี่ยต่างๆเป็นดัชนีที่เคลื่อนไปตามแนวโน้ม การใช้เส้นค่าเฉลี่ยจึงเหมาะสำหรับตลาดที่ในช่วงที่มีแนวโน้มที่ชัดเจน

  • รู้ถึงจุดที่ตลาดกลับตัว (Overbought/Oversold)
Oscillators (เครื่องมือที่มีตัวเลข ตั้งแต่ 0 ถึง 100) เป็นดัชนีที่ช่วยชี้บอกจุดที่มีการซื้อหรือขายมากเกินไป ในขณะที่เส้นค่าเฉลี่ยจะช่วยยืนยันว่าตลาดการเปลี่ยนแนวโน้ม Oscillators จะช่วยเตือนล่วงหน้าว่าตลาดเคลื่อนไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งมากเกินไป และทำให้เกิดการกลับตัว Oscillators ที่เป็นที่นิยม ได้แก่ Relative Strength Index (RSI) และ Stochastics ทั้งสองตัวนี้จัดเป็นเครื่องมือที่เรียกว่า Oscillators เพราะให้ค่าที่อยู่ในช่วง 0 ถึง 100 เมื่อ RSI มีค่าเกิน 70 จะแสดงถึงการซื้อที่มีมากเกินไป (Overbought) และ ต่ำกว่า 30 แสดงถึงการขายมากเกินไป (Oversold) ค่า Overbought และ Oversold สำหรับ Stochastics คือ 80 และ 20 นักลงทุนส่วนใหญ่ใช้ค่า 14 วันหรือสัปดาห์สำหรับการคำนวณ Stochastics และ 9 หรือ 14 วันหรือสัปดาห์สำหรับ RSI สัญญาณกลับตัวที่เกิดใน Oscillators จะเป็นสัญญาณเตือนว่าตลาดกำลังจะกลับตัว เครื่องมือเหล่านี้ใช้ได้ดีเมื่อตลาดอยู่ในช่วงที่เหมาะกับการเล่นเก็งกำไรและไม่แสดงแนวโน้มที่ชัดเจน สัญญาณในระดับสัปดาห์สามารถนำมาใช้ช่วยในการขจัดสัญญาณหลอกและยืนยันสัญญาณในระดับวัน และใช้สัญญาณระดับวันสำหรับยืนยันสัญญาณในรายนาที

  • มองเห็นสัญญาณเตือน (Warning with MACD)
Moving Average Convergence Divergence (MACD) เป็นดัชนีวัด (พัฒนาโดย Gerald Appel) ที่รวมเอาระบบการตัดผ่านของเส้นค่าเฉลี่ยและการชี้จุด Overbought/Oversold ของ Oscillators ไว้ด้วยกัน สัญญาณซื้อจะเกิดเมื่อเส้นที่เร็วกว่าตัดขึ้นเหนือเส้นที่ช้ากว่า โดยที่ทั้ง 2 เส้นอยู่ต่ำกว่าศูนย์ สัญญาณขายเกิดเมื่อเส้นที่เร็วกว่าตัดลงต่ำกว่าเส้นที่ช้ากว่าที่เหนือศูนย์ สัญญาณในระดับสัปดาห์จะมีน้ำหนักและความสำคัญมากกว่าสัญญาณในระดับวัน MACD histogram ซึ่งมีลักษณะเป็นแท่ง แสดงถึงส่วนต่างระหว่าง MACD ทั้งสองเส้น สามารถส่งสัญญาณเตือนว่าจะมีการเปลี่ยนแนวโน้มได้เร็วกว่าอีกด้วย

  • เป็นแนวโน้มหรือไม่เป็นแนวโน้ม (Trending or Consolidation)
Average Directional Index (ADX) เป็นดัชนีที่จะบอกว่าตลาดอยู่ในช่วงที่มีแนวโน้มหรือไม่ และเป็นตัวช่วยวัดว่าแนวโน้มนั้นอยู่ในระดับใด เส้น ADX ที่ชี้ขี้นแสดงถึงแนวโน้มที่มีความชัดเจนมาก ควรใช้เส้นค่าเฉลี่ยในการวิเคราะห์ หากเส้น ADX ปรับตัวต่ำลง แสดงถึงตลาดที่ไม่มีแนวโน้มและเหมาะสำหรับเก็งกำไรระยะสั้น ควรใช้ Oscillators ในการวิเคราะห์ การใช้ ADX ช่วยนักลงทุนในการวางแผนกลยุทธ์การลงทุนและในการเลือกเครื่องมือที่เหมาะสมกับสภาวะตลาด

  • รู้จักการดูสัญญาณเพื่อยืนยันแนวโน้ม (Confirmation by Volume & Open Interest)
สัญญาณที่ให้การยืนยันรวมถึงปริมาณการซื้อขายและจำนวนการซื้อขายที่มีการลงทุนจากผู้ที่เข้ามาซื้อขายใหม่ (open interest) ทั้ง 2 ตัวนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการยืนยันแนวโน้มสำหรับตลาดล่วงหน้า ปริมาณการซื้อขายมักจะส่งสัญญาณกลับตัวก่อนที่ราคาจะกลับตัว สิ่งสำคัญคือจะต้องมั่นใจว่ามีปริมาณการซื้อขายอย่างหนาแน่นในทิศทางเดียวกับแนวโน้มปัจจุบัน ในแนวโน้มขาขึ้น ควรมีปริมาณการซื้อขายที่มากขึ้นเพื่อยืนยันว่าแนวโน้มนั้นยังแข็งแรงอยู่ ส่วน open interest ที่เพิ่มขึ้นนั้นจะช่วยยืนยันว่ามีเงินไหลเข้ามาต่อเนื่องและช่วยหนุนให้แนวโน้มปัจจุบันคงอยู่ หาก open interest ลดลง ย่อมเป็นสัญญาณเตือนว่าแนวโน้มนั้นใกล้สิ้นสุดลง ดังนั้นราคาที่มีแนวโน้มสูงขึ้นควรจะมีปริมาณซื้อขายและ open interest หนุนอยู่ด้วย

Monday, February 1, 2010

ความเห็นของ Guru มุมมอง ท่านคัดท้าย

หลายเว็บบอร์ดหุ้นในไทยต่างก็มีแนวทางมุมมองของสมาชิกไปในทางเดียวกัน เช่น ข้อความใน greenbull.net จะออกไปแนวเก็งกำไรระยะสั้น ส่วน thaivi.com จะออกแนวลงทุนระยะยาว แต่ความเห็นของ 'คัดท้าย' ในกระทู้นี้แสดงความเห็นมุมมองที่มีต่อตลาดหุ้นไทยในลักษณะที่ผสมผสานยากจะระบุว่าออกไปในทางไหน แต่ทั้งหมดถูกประมวลจากประสบการณ์ที่อยู่กับหุ้นไทยมานานกว่าสิบปี

'คัดท้าย' ได้ประมวลความคิดมาเป็นหลัก 6 ประเภท คือ ความเชื่อส่วนตัว, การวิเคราะห์เชิงพื้นฐาน, การวิเคราะห์เชิงเทคนิค, กลยุทธ์และจิตวิทยาการเข้าซื้อ, การดูแลรักษาปรับพอร์ตและขาย, การบริหารความเสี่ยง มีใจความดังนี้

ความเชื่อส่วนตัว

1. เงินมาจากกระเป๋าคนอื่น กฎทุกกฎจะ Relate กับกฎทองข้อแรกนี้ คนทั่วไปอาจจะบอกว่าเงินมาจากนักลงทุนคนอื่นๆ ที่เสียให้เรา แต่จริงๆ รวมไปถึงคนซื้อของที่จ่ายเงินให้ธุรกิจที่เราเป็นเจ้าของด้วย

2. คนส่วนใหญ่ที่เล่นหุ้น จะเสียเงินมากกว่าได้เงินถ้าเมื่อใด คนส่วนใหญ่คิดอะไรเหมือนกันหมด เห็นดีเห็นงามเหมือนกันหมด คิดว่าหุ้นจะขึ้นเหมือนกันหมด... คิดว่าหุ้นจะลงเหมือนกันหมด... มันใกล้จะเป็นจุดหักเหแล้ว... โดยเฉพาะมุมมองในแง่ดี

3. กราฟเชิงเทคนิค ก็ตำราเดียวกัน อะไรที่คนรู้มากๆ แล้วไม่ปลอดภัย ถ้าเรารู้ คนอื่นรู้ เจ้ามือก็รู้ สัญญาณก็จะกลายเป็นกับดัก จะเห็นได้ว่าข้อนี้เกี่ยวกับกฎทองข้อที่สอง

4. ข่าวดี ข่าวร้าย ส่วนใหญ่ในตลาดใช้สร้างโมเมนตัมของทิศทางราคา ไม่ใช่ทำให้เกิดการไล่ราคา โดยเฉพาะหุ้นที่มีสภาพคล่องสูง

5. ไม่มีใครรู้จริงเรื่องราคาหุ้น แม้แต่เจ้ามือก็เจ๊งบ่อย การบริหารความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญ

6. หาหุ้นที่มีความสามารถในการแข่งขันแบบยั่งยืนในตลาดหุ้นไทยเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร ยิ่งถ้าหาโอกาสซื้อในราคาที่มีส่วนลด ยิ่งยาก

7. ธุรกิจในเมืองไทย ไม่สามารถขยายตัวได้เท่ากับ ธุรกิจในอเมริกา ทำให้ตลาดไทยมี Cycle ที่สั้นกว่าตลาดอเมริกามาก และไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกัน เทียบกันง่ายๆ ส่วนใหญ่หุ้น IPO ที่เข้ามาในเมืองไทย มักขยายตัวไปเต็มพื้นที่ในประเทศ หรือใกล้ตันแล้ว ไม่ได้มีพื้นที่ที่จะขยายตัวได้อย่างเหลือเฟือ... แต่ถ้าเป็นธุรกิจในอเมริกา ธุรกิจหนึ่งอาจขายดีในระดับรัฐ แล้วก็เข้าตลาดหุ้น สามารถขยายได้อีก 50 รัฐ... แล้วเมื่อไปทั่วอเมริกา เขาก็สามารถขยายไปทั่วโลกได้ มีความสามารถในการแข่งขัน... หุ้นเมืองไทยไม่ใช่แบบนั้น การจะเอามาเปรียบเทียบกัน ต้องทำด้วยความระมัดระวัง

8. การถือหุ้นของกิจการดี แต่ไม่เติบโตหรือเติบโตน้อย ในราคาที่ไม่มีส่วนลดที่เพียงพอ ไม่ใช่การลดความเสี่ยง เพราะวันใดวันหนึ่งความเสี่ยงก็ย่อมเกิดขึ้นได้

9. การถือหุ้นที่กิจการไม่ดี ในราคาที่ไม่มีส่วนลดที่มากเพียงพอ เป็นการกระทำที่ 'โคตรเสี่ยง'

10. การถือหุ้นที่กิจการกำลังเติบโต ในราคาที่มีส่วนลด เป็นการลดความเสี่ยง

11. กลยุทธ์และแผนงาน เหนือกว่าความสามารถส่วนบุคคล

12. ไม่เคยเชื่อเรื่องธรรมาภิบาล ทุกคนทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งไม่ได้ผิดอะไร แต่ให้ใส่ใจกับเจ้าของที่มีโอกาสทำเลวเกินพิกัด เมืองไทยไม่ใช่ประเทศธรรมาภิบาล ดูจากสังคมและการเมืองได้ และตลาดหุ้นก็น่าจะซึมซับพฤติกรรมมาไม่มากก็น้อย ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ เป็นคนไทยต้องดูแลตัวเอง

13. แม้ว่าเราควรจะคิดให้เหมือนเป็นเจ้าของบริษัท แต่เจ้าของบริษัทไม่ได้คิดว่าเราเป็นเจ้าของ... ดังนั้นข้อมูลที่เราได้ ก็ไม่ใช่ข้อมูลที่เจ้าของได้

14. แม้แนวคิด value investor จะบอกว่าให้คิดเหมือนเราซื้อทั้งบริษัท แต่ความเป็นจริงคือ เราไม่มีเงินมากขนาดนั้น และสิทธิที่เราได้ก็จะมีเท่าเงินของเรา หลังจากเราซื้อ เราก็เอาเงินของเราไปให้คนอื่นดูแล หากคุณให้เงินเพื่อนยืมไปทำบริษัท คุณอาจจะบอกว่าเสี่ยงมาก แต่จริงๆ แล้ว เพื่อนยืมเงินคุณยังอาจขอไปดูโรงงาน ขอเปิดบัญชีดู มอมเหล้าให้คายความลับ และเพื่อนก็ยังอาจจะเกรงใจคุณอยู่บ้าง แต่เจ้าของบริษัทมหาชนคงไม่สนใจคนที่ถือหุ้น 30,000 หุ้นเท่าไร เขาอาจจะหันมายิ้มแล้วตอบคำถามต่างๆ แต่ก็ไม่รู้จะเชื่อคำตอบได้แค่ไหน

15. ดังนั้นข้อมูลที่เราได้ ก็จะมาจากข้อมูลวงนอกที่เราพอจะหาได้ ได้แก่ งบเก่าๆ, กราฟ, ส่วนแบ่งตลาด, ตัวเลขและแนวโน้มกลุ่มธุรกิจ ฯลฯ แต่จากประสบการณ์ทำให้เชื่อขึ้นทุกทีว่า จริงๆ เราเป็นกูไม่รู้ (Gu (not) ru) คือเราไม่ได้รู้อย่างที่เราคิดว่าเรารู้ อย่าลืมคิดเรื่องการบริหารความเสี่ยงไว้เสมอ เวลาซื้อหุ้น ควรบอกตัวเองว่า ถ้าเกิดเรื่องที่ไม่คาดฝัน เราจะทำอย่างไร

16. หุ้นเมืองไทยยากนักที่ราคา (เน้นว่าราคา ไม่ใช่มูลค่า) จะสวนกระแสพิษเศรษฐกิจได้ ถ้าไม่ชอบเห็นหุ้นตัวเองราคาหายไปครึ่งหนึ่ง ควรจะคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจด้วยหุ้นอะไรก็ตามยากจะต้านภาวะแย่ๆ ได้ ถ้าซื้อหุ้น 10 บาทแล้วลงไป 3 บาท ไม่รู้สึกอะไรก็ไม่ต้องสนใจเรื่องนี้ ด้วยความเชื่อทั้งหมดนี้ จึงควรหาหุ้นที่มี Downside Risk ต่ำ มี Upside Gain สูง และมีสภาพธุรกิจอยู่ในขาขึ้น (Uptrend) ถือไปเรื่อยๆ จนกว่ารู้สึกว่าไม่ปลอดภัย

การวิเคราะห์พื้นฐานเชิงคุณภาพ

นักการเงิน คนเรียนบัญชี และพนักงานสินเชื่อ มีความสามารถในด้านการเงินมากกว่าเราหลายเท่านัก และคนกลุ่มนี้ก็เล่นหุ้นกันเพียบ ถ้าเพียงแค่การวิเคราะห์งบจะบอกอะไรได้หมด คนกลุ่มนี้ก็รวยกันไปหมดแล้ว แต่ความจริงคือไม่ใช่ แปลว่าต้องมีอะไรมากกว่านี้

หุ้นจะมีสภาพ Uptrend อย่างโดดเด่นได้ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากพื้นฐานอย่างอื่นที่ไม่ใช่งบ เช่น วงรอบธุรกิจ (ปิโตรฯ เรือ) การขยายงาน การเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุน เช่น กองทุนอสังหาฯ ฯลฯ การวิเคราะห์งบใช้เพียงเพื่อบอกว่าธุรกิจมีสุขภาพที่ดีหรืออ่อนแอ แพงไปหรือถูกในปัจจุบัน แค่นั้น อีกเรื่องที่ดูคือ ดูความแข็งแกร่งว่าหากโดนคู่แข่งเจาะเข้ามา จะมีความสามารถในการป้องกันแค่ไหน ผูกขาดไหม ข้อมูลนี้ใช้ดูว่าจะกล้าถือได้นานแค่ไหน ถือแค่เก็งการเติบโต 6 เดือน หรือถือลงทุน 3 ปี เป็นต้น

การวิเคราะห์เชิงเทคนิค

ใช้เพื่อหาราคาที่จะเข้าซื้อ หุ้นที่จะใช้วิธีการนี้ ควรมีสภาพคล่อง ข้อมูลทางเทคนิคไม่ควรใช้กับหุ้นขาดสภาพคล่องทั้งวันซื้อขายไม่กี่ไม้ ควรเป็นหุ้นที่มีผู้ดูแลที่นิสัยไม่แย่เกินไป โดยดูจากกราฟ ที่ผ่านๆ มา หุ้นที่มีคนดูแลนิสัยเข้ากับเราจะเล่นได้สบายใจ ส่วนใหญ่เทคนิคจะใช้หาจุดที่เข้าซื้อหุ้น การหาจุดต่ำสุดนั้นยากมาก จึงต้องใช้...

กลยุทธ์และจิตวิทยาการเข้าซื้อ

เทคนิคกับพื้นฐาน สามารถใช้คู่กันได้ในการหาจุดเข้าซื้อ โดยหาแนวรับในเชิงเทคนิคไว้ก่อน แล้ว Map แต่ละจุดดูว่า ค่าที่จุดรับต่างๆ นั้น ให้ค่าพื้นฐาน เช่น P/E P/BV อยู่ที่เท่าไร ราคาประเมินนั้นถูกหรือแพง แล้วดูว่าแนวรับแต่ละแนวเป็นไปได้มากหรือน้อย แล้วก็ทยอยรับตามจุดต่างๆ ลงมากรับมาก ลงน้อยรับน้อย แต่มักพบว่าในสถานการณ์ปกติทั่วไปหุ้นดี มักจะลงไม่ถึงจุดที่ทุกคนคิดว่าถูกมากและปลอดภัยจนต้องซื้อ

การดูและรักษาปรับพอร์ต และขาย

1. จดจำเหตุผลที่คุณซื้อหุ้นใดๆ ไว้เสมอ และจำไว้ใช้เวลาขาย เช่น ถ้าคุณซื้อหุ้นเพราะกราฟ แล้วติดดอย คุณห้ามปลอบใจตัวเองว่าไม่เป็นไร หุ้นพื้นฐานดี อะไรแบบนี้ เพราะเวลาซื้อคุณไม่ได้คิดถึงพื้นฐาน

2. ขายเมื่อเหตุการณ์ไม่ได้เป็นไปตามที่คุณคิด โดยเฉพาะทางพื้นฐาน แยกความรู้กับความหวังออกจากกันให้ชัดเจน ต้องไม่หลอกตัวเอง

3. ขายเมื่อหุ้นได้ถึงเป้าหมายที่คาดเอาไว้ อย่าโลภเกิน เราหวัง เรารู้แค่ไหน ก็หวังแค่นั้น หรือไม่ถ้าเกินเป้าหมายแล้ว อยากถือต่อ ก็ควรบริหารความเสี่ยงโดยขายออกไปบ้าง

เมื่อเป็น Gu Not Ru แล้ว ถ้าผิดคาดต้องออกไปก่อนรู้ถูกไม่เท่าทำถูก เราต้องสร้างวินัยทำให้ได้ตามกฎที่เราตั้งขึ้นมา

การบริหารความเสี่ยง ซุนวูกล่าวไว้ว่า

"ขุนศึกที่ชนะ ออกรบเพื่อไปเอาชัยชนะ

ขุนศึกที่พ่ายแพ้ ออกรบเพื่อหวังชัยชนะ"


เล่นหุ้นไม่ต้องเล่นบ่อยๆ ต้องมั่นใจพอสมควร ไม่จำเป็นต้องลงทุนถ้าเราไม่มั่นใจ รอดีกว่าถ้าราคายังไม่ถูกใจ พื้นฐานยังไม่ถูกใจ สภาวะยังน่าเป็นห่วง บางคนบอกว่าเซียนหุ้นต้องลงทุนได้ทุกสภาวะ แต่ควรถือเสมอว่าเราไม่ได้เป็นเซียนหุ้น เห็นโอกาสแล้วค่อยลงทุน ไม่เสี่ยง